ประเภทของไวน์ (Wine) ไวน์สามารถแบ่งออกได้ คือ
ไวน์ที่ไม่มีฟอง (Still Wine) บ้างทีก็เรียกว่า "Natural Wine" หรือ "Table Wine" (เทเบิ้ลไวน์) เป็นไวน์ยอดนิยม บ้างทีก็เรียกกันว่า Dinner Wine ซึ่งไวน์ในท้องตลาดส่วนใหญ่ก็เป็นไวน์จาก ตระกูลนี้ทั้งสิ้นเป็นไวน์ที่เหมาะสมสำหรับดื่มคู่กับอาหาร มีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 7-15% นอกจากนั้นไวน์ขาว และไวน์แดงของเทเบิ้ลไวน์ก็ยังแตกสาขาออกไปอีก อย่างไวน์ขาว ก็มีทั้งประเภทหวาน และ ประเภทไม่หวาน ได้แก่
- ไวน์แดง (Red Wine) หมักมาจากองุ่นแดงพันธุ์ Merlot , Cabernet Sauvignon, Pinot Noir, Syrah (Shiraz), Sangiovese, Nebbiolo, Zinfandel, Gamay Beaujolais ไวน์แดงจากแค้วนบอร์โดซ์ของฝรั่งเศส ถึอว่าเป็นไวน์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก และไวน์แดงทุกชนิด จะไม่ออกรสหวานเลย ฝาด ค่อนข้างเข้มข้น กลิ่นแรง น้ำไวน์สีแดงทับทิม นิยมดื่มแบบไม่แช่เย็น ที่มีอุณหภูมิ 18-21 องศาเซลเซียส (เพราะถ้านำไวน์แดงไปแช่เย็นจะทำให้มีรสขมมากขึ้น) เสิร์ฟพร้อมกับอาหารพวก เนื้อสัตว์ที่เนื้อออกสีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อเก้ง เนื้อแพะ เนื้อแกะ ฯลฯ สำหรับไวน์แดง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้แก่ Bordeaux, Burgundy และ Beaujolais เป็นไวน์ฝรั่งเศส, Chanti เป็นไวน์อิตาลี
- ไวน์ขาว (White Wine) หมักมาจากองุ่นเขียวพันธุ์ Chardonnay, Riesling, Sauvignon Blanc, Pinot Gris-Pinot Grigio น้ำไวน์มาสีขาวออกเหลือง รสอ่อน ฝาดนิดหน่อย นิยมดื่มแบบแช่เย็นในถังที่มีอุณหภูมิ 7-12 องศาเซลเซียส แล้วเสิร์ฟที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส พร้อมกับพวกอาหารทะเล เนื้อที่มีสีขาวสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา เนื้อปู เนื้อกุ้ง สำหรับไวน์ขาว ประเภทไม่หวานชนิดที่มีชื่อเสียงโด่งดังได้แก่ จำพวก Chablis และ Muscadet Riesling เป็นไวน์ฝรั่งเศส, Asti เป็นไวน์อิตาลี
- ไวน์โรเซ่ (Rose Wine) ไวน์สีชมพู รสอ่อน ออกหวาน กลิ่นหอม เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นดื่มไวน์ นิยมดื่มแบบแช่เย็น พร้อมกับอาหารทุกชนิด สำหรับไวน์โรเช่ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้แก่ San Miquel, Rose'D Anjou
ไวน์ที่มีฟอง (Sparkling Wine) แต่ถ้าผลิตในเมืองแชมเปญ จะเรียกว่า "Champagne" ในเยอรมันจะเรียกว่า "Schaumwich" หรือ "Sekt" ในอิตาลีจะเรียกว่า "Spumante" ไวน์ประเภทนี้ได้แก่ ไวน์ประเภทที่มีฟองนั่นเองหรือเป็น ไวน์จำพวกที่มีดีกรีปานกลางคือ มีดีกรีแอลกอฮอล์ประมาณ 15-18% ส่วนใหญ่จะเป็นไวน์ขาว และส่วนน้อยจะเป็นไวน์แดง หรือไวน์สีชมพู รสของไวน์ประเภทนี้มีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่หวานเลยระเรื่อยไปจนหวานนิดหน่อย หวานมาก และหวานมาก นิยมดื่มที่อุณหภูมิประมาณ 1.5-4.5 องศาเซลเซียส พร้อมของหวาน เป็นไวน์ที่ไม่เหมาะสำหรับดื่มคู่กับอาหารแต่เป็นการดื่มฉาบฉวยในบางโอกาส โดยเฉพาะในโอกาสฉลองชัย แสดงความยินดี ไวน์ประเภทนี้ ปกติชนทั่วไปไม่นิยมเรียกว่าไวน์แต่จะมีชื่อเสียงเรียงนามจำเพาะเจาะจงของมันเรียกเป็นเอกเทศ เช่น Champagne, Sparkling Burgundy เป็นไวน์ฝรั่งเศส, California Champagne และ New York State Champagne เป็นไวน์จากสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตแบบเดียวกันกับไวน์จากเมืองแชมเปญในฝรั่งเศส
ไวน์ที่แต่งเติมเสริมดีกรี (Fortified Wine) เป็นไวน์ประเภทที่มีดีกรีแอลกอฮอล์สูง ประมาณ 18-22% นิยมดื่มพร้อมขนมหรืออาหารว่าง แต่นักดื่มทั่วไปไม่นิยม บ้างทีเรียกว่า "เหล้าไวน์" แต่จะมีชื่อจำเพาะเจาะจงของมันเองเช่นเดียวกับสปาร์กลิ้งไวน์แถมเหล้าไวน์นี้แผกเพี้ยน ไปกว่าเหล้าไวน์ตระกูลอื่นๆ คือน้ำเหล้าแทนที่จะเป็นไวน์ล้วนๆ แต่เป็นการนำไวน์มาผสมกับบรั่นดี โดยมีบรั่นดี เจือผสมอยู่ใน ฟอร์ติไฟด์ไวน์ 15% ไวน์ในตระกูลนี้บางตัวก็เป็นไวน์พิสดารอย่างเช่น เหล้าเชอรี่ ของสเปน ประเภทฟีโนเมื่อรินน้ำเหล้าใส่แก้วก็จะมีดอกไม้ เบ่งบานในน้ำเหล้าให้ผู้ดื่มได้ หวือหวาอีกด้วย ได้แก่ Port, Sherry, Madiera, Muscat, Marsala, Muscate
ไวน์ที่ปรุงแต่งด้วยรสสมุนไพร (Aromatized Wine) เป็นไวน์ที่มีสรรพคุณทางยา กลั่นผสมพวกรากไม้รากยา สมุนไพรต่างๆ เข้าไป มีกลิ่นหอมฉุน น้ำสีเหลือง หรือขาว หรือแดง ได้แก่ เวอร์มูธ (Vermouth)
ุอุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการเสิร์ฟไวน์ ควรปรับให้ไวน์เข้าสู่อุณหภูมิที่เหมาะสม สำหรับเสริฟ์อย่างช้า ๆ สำหรับไวน์ขาวรส ไม่ หวาน (Dry White Wine) และ ไวน์โรเซ่ (Rose Wine) ควรเสริฟ์ในขณะที่มี อุณหภูมิระหว่าง 8-12 องศาเซลเซียส แต่อย่าให้เย็นจัดจนเริ่มจับเป็นเกล็ด หรือแข็งจน เป็นน้ำแข็ง ไวน์ที่ค่อนข้าง หวาน หรือไวน์ ขาวหวาน,แชมเปญหรือไวน์ฟอง (Sparkling Wine) อาจเสิร์ฟ ในอุณหภูมิ ที่ต่ำกว่า ไวน์ขาว หรือไวน์รสไม่หวาน ได้ คือ ประมาณ 6-8 องศาเซลเซียส ไวน์แดงอ่อน รสนุ่ม จะต้องเสิร์ฟ ณ อุณหภูมิ ของห้องเก็บไวน์มาตรฐาน (Cellar) ประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส ไวน์แดงที่เข้มข้น ควรเสิร์ฟใน อุณหภูมิ "Chambre" คือให้ไวน์ มีอุณหภูมิเท่าอุณหภูมิห้อง ที่อบอุ่นปานกลาง เช่น ไวน์บอร์โด เสิร์ฟที่ อุณหภูมิ 18-19 องศาเซลเซียส ส่วน ไวน์เบอร์กันดี เสิร์ฟที่อุณหภูมิ 15-16 องศาเซลเซียส
ห้าไวน์อรหันต์ (Premier Grand Crus Classes)
ไวน์ในโลกนี้ ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือ 5 ไวน์อรหันต์ ที่มีกลิ่นและรสกลมกล่อมน่าเย้ายวล จัดว่ามีศิลปะในการผลิตอันละเมียดละไมซึ่งจะว่าไปไวน์ในโลกนี้มีมากมายหลายยี่ห้อ แต่ไวน์ที่เป็นที่รู้จักกัน ในระดับสากล มีประมาณ 15,000 ตัว และที่นักดื่มนิยมดื่มกันก็มีอยู่ประมาณ 4,000 ตัว ที่เป็นที่สุด จะเป็นไวน์ฝรั่งเศสประมาณ 2,000 ตัว และในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากดินแดนกอล ประมาณ 1,000 ตัว อยู่ในแคว้นบอร์โดซ์ ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เป็นแหล่งผลิตไวน์ที่ แหล่งใหญ่ของโลก จนกล่าวได้ว่า หากคอไวน์คนใดไม่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของไวน์บอร์โดซ์นี้แล้ว ก็หามีความชอบธรรมที่จะอวดอ้างตัวเองเ ป็นนักดื่มไวน์ได้ไม่
แคว้นบอร์โดซ์มีไร่องุ่นคุณภาพระดับ AOC (Appellation de Origine Controlee) พื้นที่ประมาณ 346,000 เอเคอร์ (865,000 ไร่) ผลิตไวน์ได้ปีหนึ่งประมาณ 880 ล้านขวด คิดเป็น 80% ของไวน์ทั้งหมดที่ส่งออกจำหน่าย ไร่องุ่นในแคว้นนี้จะแบ่งออกเป็น 22 เขต แต่ที่มีชื่อเสียงมาก จะมีอยู่เพียง 5 เขต คือ เขตเมดอก (Médoc), กราฟส์ (Graves), โซแตร์นส์ (Sauternes), ปอเมอโรล (Pomerol) และเขตแซง-เตมิญอง (Saint-Emilion) ซึ่งไวน์จาก ห้าเขตนี้ ถือว่าสุดยอด รสชาดอร่อยระดับก้องโลก แต่ยังมีสองเขตที่มีไวน์ดังมากสุด คือ เขตเมดอก และเขตแซง-เตมิญอง
ในปี ค.ศ.1855 สมาคมผู้ค้าไวน์ร่วมกับทางราชการของฝรั่งเศสได้ประกาศชื่อยอดไวน์ของเขตเมดอกให้เป็นระดับกรองด์ ครูส์ (grand Crus) รวม 61 ตัว เป็นระดับครูส์ เอ็กเซ็พชั่นแนลส์ (Crus Exceptionals) 7 ตัว ระดับ ครูส์ บูร์ฌัวส์ และครูส์ อาร์ติชางส์ (Crus Bourgeois and Crus Artisans) อีก 316 ตัว ส่วนเขตแซง-เตมิญองได้มีการประกาศไวน์ระดับ Grand Crus Classés ในปี ค.ศ.1955 (ปีล่าสุด ค.ศ.1996) โดยแต่งตั้งให้เป็นระดับเปรอมิเย่ร์ กรองด์ ครูส์ (Premiér Grand Crus) 13 ตัว เป็นระดับกรองด์ ครูส์ คลาสเซ่ส์ (Grand Grand Crus) อีก 55 ตัว ไวน์ระดับกรองด์ ครูส์ ทั้ง 61 ตัว เขตเมดอก ยังถูกแบ่งออกเป็น 5 ชั้นเรียกว่า 1855 Classification of the Médoc โดยชั้นหนึ่งเรียกว่า เปรอมิเย่ร์ ครูส์ คลาสเซ่ (Premiér Crus Classés) มีไวน์สุดยอดของโลก 5 ตัว ถือว่าเป็นยอดของยอดในจำนวนกรองด์ ครูส์ทั้งหลายของเมดอก เป็นไวน์ระดับอร่อยเหลือใจ ซึ่งไวน์ทั้ง 5 ตัวของชั้นหนึ่งนี้ คือ ห้าอรหันต์เซียนเหยียบเมฆา ส่วนกรองด์ ครูส์ชั้นที่สองเรียกว่า เดอซีแยม ครูส์ คลาสเซ่ (Deuxiéme Crus Classés) มีจำนวน 14 ตัวเช่นกัน ชั้นที่สี่เรียกว่า กาตรีแยม ครูส์ คลาสเซ่ (Quatriéme Crus Classés) อีกจำนวน 10 ตัว และชั้นที่ห้า เรียกว่า แซ็งกีแยม ครูส์ คลาสเซ่ (Cinquiéme Crus Classés) อีกจำนวน 18 ตัว
ห้าอรหันต์ที่คอไวน์ทั้งหลายนิยมกัน มาหลายศตวรรษนั้น ได้แก่ ชาโต้ ลาตูร์ (Château Latour) ชาโต้ มาร์โกซ์ (Château Margaux) ชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์ (Château Lafite-Rothschild) ชาโต้ โอต์-บรีออง (Château Haut-Brion) และชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์ (Château Mouton-Rothschild)
เส้นทางเดินของชาโต้ ลาตูร์ กำเนิดในศตวรรษที่ 16 ในตำบลโปอีแญ็ก (Pauillac) ด้วยฝีมือของคนในตระกูลเซกูร์ ครั้งแรกที่ออกวางจำหน่าย ยังจัดเป็นไวน์ที่มีชื่อเสียงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17 ทายาทตระกูลเซกูร์คนหนึ่งได้สมรสกับเจ้าหญิงซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์บัวบองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ.1938-1715) ชาโต้ ลาตูร์ จึงเป็นไวน์ที่มีคนกล่าวถึงในฐานะไวน์เขยกษัตริย์
ช่วงที่เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ทรัพย์สมบัติจำนวนมากของคนในตระกูลเซกูร์ ถูกยึดไปกว่าครึ่ง จนทำให้ต้องปิดกิจการไวน์ไปชั่วคราว แต่ไม่นานนัก พอถึงปี ค.ศ.1842 ไวน์ตระกูลนี้ก็ผงาดขึ้นมาเจิดจำรัส นายอเล็กซานเดอร์ เดอเซกูร์ เป็นผู้กอบกู้ฐานะให้แก่วงศ์ตระกูล และยังกว้านซื้อไร่องุ่นในตำบลโปอีแญ็ก กลับเพิ่มขึ้นอีกมากขึ้น
ในปี ค.ศ.1855 เมื่อมีการจัดอันดับไวนกรองด์ ครูส์ของเขตเมดอกที่กรุงปารีส ปรากฏว่าชาโต้ ลาตูร์ คือหนึ่งในไวน์สี่ยี่ห้อที่เป็นแชมป์อยู่ในอันดับหนึ่ง นับเป็นรางวัลโนเบลของเมรัยคลาสสิก เลยก็ว่าได้ ต่อมาในปี ค.ศ.1963 ตระกูลเซกูร์ก็ขายกิจการไวน์ชาโต้ ลาตูร์ ให้แก่ลอร์ดดาวดราย ซึ่งในปัจจุบันเจ้าของไวน์ชาโต้ ลาตูร์ คือ นายอาลี ลีออ
โลโก้ของชาโต้ ลาตูร์กลับเป็นรูปหอคอยคร่ำครึก สูงเด่น มีสิงโตผอมกระหร่องกวัดแกว่งหางอย่างสบายอารมณ์ยื่นอยู่บนหอคอย สาเหตุที่ชาโต้ ลาตูร์มีโลโก้แผกเพี้ยนกว่าชาโต้อื่นๆ เช่นนี้ เพราะท้ายไร่ที่ติดกับแม่น้ำฌีฮองมีหอคอยรูปร่างเทอะทะเหมือนในฉลากตั้งอยู่จริง มีประวัติเปิดเผยว่าในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 โจรสลัดออกอาละวาดแถบชายฝั่งทะเลปากแม่น้ำฌียองอยู่ชุกชุม เที่ยวปล้นสะดมเศรษฐีนักทำเหล้าอย่างดุร้ายโหดเหี้ยม ชาวเมรัยจึงร่วมใจกันสร้างหอคอยดังกล่าวเป็นที่ตั้งปืนใหญ่สำหรับยิงโจรสลัดในปี ค.ศ.1625 แต่ในปัจจุบันเป็นที่เก็บไวน์ที่เรียกว่า “เซส์” ที่ใหญ่โตของชาโต้ ลาตูร์
ชาโต้ ลาตูร์ที่ทุนิยม มีชื่อเสียงในปัจจุบัน คือ ไวน์แดง ที่รสกลมกล่อม กลิ่นหอมนุ่มนวล เป็นขวดไวน์ระดับปีทอง (Vintage Year) ราคาแพง เป็นหมื่นกว่าบาท ไร่ลาตูร์มีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ อยู่ในตำบลโปอีแญ็ก เป็นทำเลทอง เรียกกันว่า “ยาร์ดีนาจ” (Jardinage) พันธุ์องุ่นที่ใช้ ได้แก่ พันธุ์คาแบร์เน่ต์ โซวินยอง (Cabernet Sauvignon) และพันธ์แมร์โลต์ (Merlot) ซึ่งเป็นองุ่นสุดยอดของโลกจึงไม่แปลกเลยที่ Château Latour คืออัญมณีแห่งโลกไวน์
ชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์ เป็นไวน์ระดับพระกาฬที่คอไวน์ต่างยกย่อง แม้แต่ประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน (อเมริกา) ก็ยังหลงใหลอย่างไม่อาจหักห้ามใจได้ ซึ่งขวดไวน์ระดับปีทอง (Vintage Year) ของห้าอรหันต์ ไวน์ชาโต้ ลาฟิต จะมีราคาแพงกว่าตัวอื่นมาก
ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 นายกอมโบ เดอ ลาฟิต เป็นผู้ให้กำเนิดไวน์ชาโต้ ลาฟิต จัดเป็นไวน์เก่าแก่ ที่กำเนิดมากนานกว่า 8 ศตวรรษแล้ว นายกอมโบ เดอ ลาฟิต (เป็นใครมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากไหนไม่มีใครรู้) จู่ๆ ก็มาลงทุนซื้อไร่องุ่นที่ตำบลโปอีแญ็ก ในปี ค.ศ.1234 และผลิตไวน์แดงยี่ห้อลาฟิตขึ้นมายุคแรกๆ ก็ผลิตได้แค่พอเลี้ยงตัว จนกระทั้งนายกอมโบสิ้นชีพลง ทายาทลาฟิตอีกหลายรุ่นดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง จนถึงศตวรรษที่ 14 ชาโต้ ลาฟิต ก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะไวน์เก่าแก่ที่มีรสชาดนุ่มนวล อร่อยล้ำ
ในปี ค.ศ.1794 ชาโต้ ลาฟิต ตกเป็นสมบัติของรัฐ และถูกพ่อค้าชาวดัตช์คนหนึ่งประมูลได้ แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินกิจการ ก็ต้องขายให้แก่เซอร์แซมมวล สก็อต นักทำเหล้าชาวอังกฤษ ได้พัฒนาการผลิตไวน์ตัวนี้เสียเวลาไปเกือบครึ่งศตวรรษ ก็ยังทำให้ไวน์นี้โด่งดังไปทั่วโลกไม่ได้ จนต้องประกาศขายกิจการในปี ค.ศ.1868 ด้วยมูลค่ากว่า 200 ล้านฟรังก์ในยุคนั้น จากระยะเวลากว่า 634 ปี ไวน์ตัวนี้ ได้ตกเป็นสมบัติของคนในตระกูลรอธส์ไชลด์ (Rothschild) เป็นมหาเศรษฐีหนึ่งในสิบของฝรั่งเศส (เจ้าของธนาคารรอธส์ไชลด์) ที่ร่ำรวยมหาศาล และเป็นนักปรุงเหล้ามืออาชีพ เป็นผู้ทำให้ไวน์ชาโต้ ลาฟิต มีคุณค่า น่าหลงไหล มีชื่อเสียงรู้จักไปทั่วโลก จากวันนั้นเป็นต้นมา ชาโต้ ลาฟิต จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์ ไร่องุ่นของชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์มีถึง 750 ไร่ และถือว่าเป็นไร่องุ่นที่มีความสวยงามมากของโลก ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคอไวน์ระดับ วี.ไอ.พี.
ไวน์ขวดปีทอง (Vintage Years) ของชาโต้ตัวนี้แบ่งเป็นสองยุค ได้แก่ ยุคเก่า เช่น ปี ค.ศ.1797, 1801, 1805, 1811, 1870, 1893, 1895 และ 1900 และยุคใหม่ เช่น ปี ค.ศ.1945, 1949, 1952, 1953, 1955, 1959, 1966, 1970, 1982, 1986, 1988, 1989, 1990 และ 1995
- อรหันต์สาม ชาโต้ มาร์โกซ์ (Château Margaux)
ไวน์กรองด์ ครูส์ ระดับชั้นเปรอมิเย่ร์ ครูส์ คลาสเซ่ ยี่ห้อนี้ กำเนิดในศตวรรษที่ 15 โดยคนในตระกูลดูร์ฟอรต์ ณ. ปราสาทลาโมธ ตำบลมาร์โกซ์ เป็นเจ้าของชาโต้ ดูร์ฟอรต์-วีวองส์ (Château Durfort-Vivens) ไวน์กรองด์ ครูส์ชั้น 2 เป็นผู้ผลิตไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ จนโด่งดัง ซึ่งเดิมทีไวน์ตัวนี้ มาจากไวน์สองตัว คือ มาร์กู และมาร์กูส แล้วยุบรวมให้เหลือเป็นตัวเดียว คือ มาร์โกซ์ ในปี ค.ศ.1750
ลูกหลานในตระกูลดูร์ฟอรต์ ได้ครอบครอง ไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ มาหลายศตวรรษ จนกระทั้งปี ค.ศ.1836 ได้ขายกิจการให้แก่วีกอง เด อาโกโด ถือว่าเป็นโชคดีของไวน์ตัวนี้ ซึ่งกำเนิดจากตระกูลขุนนางผู้ดี มีศิลปะในหัวใจ ได้ทุ่มเทจิตวิญญาณ ผลิตไวน์สีน้ำทับทิม ตระกูลอาโกโดได้สร้างตึกมาร์โกซ์ใหม่ในปี ค.ศ.1836 โดยฝีมือของนายวิคตอร์ ลูอิส สถาปนิกที่ดังที่สุดในยุคนั้น เป็นศิลปกรรมยุคบาบิโลนอันล้ำเลิศจนกลายเป็นชาโต้ที่สวยที่สุดของชาโต้ทั้งปวงในเมดอกภายในปราสาทตกแต่งอย่างสวยงามหรูหรา คล้ายอาณาจักรอันเร้นลับ ประดับด้วยต้นไม้ล้ำค่าจากมองโกเลีย สร้างทะเลสาบพลิ้วอยู่หน้าปราสาท มีโรงภาพยนตร์ส่วนตัวสำหรับหาความสำราญอยู่กลางทะเลสาบ คนในตระกูลอาโกโด ได้ครอบครองชาโต้ มาร์โกซ์ อยู่เพียง 43 ปี ก็ขายกิจการทิ้งให้กับคนในตระกูลกองปีเอ-วี ใป ค.ศ.1879 และช่วงฤดูหนาว ในปี ค.ศ.1925 ก็ถูกขายอีกครั้งให้แก่ ดลุค เดอ ลา เตรมูลา แล้วก็ขายอีกครั้งในปี ค.ศ.1935 ให้แก่นายแฟร์นัว ยีนเนซและเพื่อน บนเส้นทางอันซับซ้อนของธุรกิจไวน์พันล้าน ไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ ได้เปลี่ยนมือเจ้าของและหุ้นส่วนเป็นว่าเล่น จนปี ค.ศ.1949 หุ้นทั้งหมดได้ตกเป็นของตระกูลยีนเนซอย่างเบ็ดเสร็จ และล่าสุด ไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ ได้เปลี่ยนเจ้าของอีกแล้ว ในปี ค.ศ.1977 ตระกูลยีนเนซได้ขายให้แก่นายอังเดร มังเซดรปูโล
ไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ นอกจากผลิตไวน์แดงจนมีชื่อกระฉ่อนแล้ว ยังผลิตไวน์ขาวยี่ห้องปาวีญอง บลอง ดู ชาโต้ มาร์โกซ์ (Pavillon Blanc du Château Margaux) จนมีชื่อเสียงโดดเด่น มีคนกล่าวกันว่า ไม่เคยมีไวน์ดังระดับกรองด์ ครูส์ของแคว้นบอร์โดซ์ตัวไหนที่นำชื่อตำบลมาตั้งเป็นชื่อไวน์ นอกจากชาโต้ มาร์โกซ์ เท่านั้น อย่างตำบลโปอีแญ็ก (Pauillac) ซึ่งมีไวน์ดังระเบิดระดับโลกออกมาเพียบ ก็ยังไม่เคยมีไวน์ขวดไหนใช้ชื่อ Château Pauillac หรืออย่างเขตโซแตร์นส์ (Sauternes) ก็ไม่เคยมี Château Sauternes นอกจากยี่ห้อ มาร์โกซ์ เท่านั้นที่ใช้
ไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ ประกาศความยิ่งใหญ่อีกครั้งเป็นซ้ำสองเมื่อปี ค.ศ.1962 เป็นปีที่ครบรอบ 5 ศตวรรษ ของมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ (เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ของโลก) ในงานนี้มีไวน์ที่ถูกคัดเลือกมาเสิร์ฟในงาน ที่ยิ่งใหญ่นี้ มีคนสำคัญระดับชาติ นักวิทยาศาสตร์ และนักชิมไวน์ระดับปรมาจารย์ มากันมาก ปรากฏว่ามีไวน์เพียงยี่ห้อเดียวที่ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องดื่มประจำงานนี้ นั่นคือ ชาโต้ มาร์โกซ์
ไวน์ขวดปีทอง (Vintage Year) ที่น่าสนใจ ได้แก่ ปี ค.ศ.1928, 1961, 1966, 1967, 1970, 1974, 1982, 1986, 1989, 1990, 1995, 1998 และ 2000
- อรหันต์สี่ ชาโต้ โอต์-บรีออง (Château Haut-Brion)
ไวน์ชาโต้ โอต์-บริออง นี้อยู่นอกเขตเมดอก อยู่ในเขตกราฟส์ (Graves) แต่มีความโดดเด่น ทั้งรสชาด และกลิ่น จนได้รับการยกย่องให้เป็นห้าอรหันต์ของเมดอกด้วย เป็นไวน์ระดับกรองด์ ครูส์ ชั้นเปรอมิเย่ร์ ครูส์ คลาสเซ่ส์
ย้อนกลับไปกว่า 500 ปี ในยุคกลางของยุโรป เป็นยุคทองของไวน์ฝรั่งเศส เจ้าของไวน์ชาโต้ โอต์-บรีออง คนแรก ก็คือ นายแมซอง นอเบลอ เด โอต์-บรีออง ต่อมาในปี ค.ศ.1525 ไวน์ตัวนี้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพลเรือเอกฟิลิปป์ เดอ ชาโบ เป็นนายทหารที่สอพอ จนได้รับการเลื่อนยศอย่างรวดเร็ว เป็นผู้ที่หลงใหลไวน์ตัวนี้ ได้ครอบครองชาโต้ โอต์-บรีอองอยู่ได้ไม่นาน ก็ขายให้ตระกูลปองตัก และตระกูลปองตักนี้เอง ที่สร้างชาโต้ โอต์-บรีออง ดังมีชื่อเสียงกระเดื่องไปทั่วอังกฤษ นานถึงสามศตวรรษ(ศตวรรษที่ 16-18) จากนั้นชาโต้ โอต์-บรีออง ก็เปลี่ยนเจ้าของเป็นว่าเล่น ท้ายสุดในปี ค.ศ.1935 ไวน์ตัวนี้ ก็ตกเป็นสมบัติของหนุ่มชาวอเมริกัน มีนามว่า นายคลาเร้น ดิลลอน เป็นมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทไฟแนนซ์หลายแห่ง
จากบันทึกของนายแซมมวล พีพซ์ (ปี ค.ศ.1633-1703) ชาวอังกฤษ เป็นนักจดบันทึกที่ดุเดือดเลือดพล่านผู้หนึ่ง ได้จดบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในยุคเขาอย่างละเอียดละออทุกวัน ตั้งแต่เด็กจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต นับเป็นแสนหน้ากระดาษ กระทั้งทุกวันนี้ยังไม่เคยมีใครบ้าบันทึกเทียบเท่าเขาได้อีก นายพีพซ์คนนี้ได้บันทึกไวน์ชาโต้ โอต์-บรีออง ในวันที่ 10 เมษายน 1693 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 30 ปี แล้วบังเอิญมีโอกาสได้ชิมยอดไวน์ตัวนี้ในลอนดอน ว่า “...และบัดนี้ ข้าพเจ้าได้ดื่มไวน์ที่นุ่มนวลกลมกล่อมที่สุดของฝรั่งเศส ชื่อโอต์ ไบรอั้น (ชื่อเรื่องในขณะนั้น) ซึ่งงดงามมาก ดีเยี่ยมอย่างชนิดที่ข้าพเจ้าไม่เคยเจอะเจออะไรที่ยอดเยี่ยมเท่านี้มาก่อน”
ไวน์เก่าแก่ตัวนี้ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกองุ่นประมาณ 270 ไร่ ผลิตไวน์แดงปีละ 17,000 หีบ โดยใช้องุ่นพันธุ์คาแบร์เน่ต์ โซวินยอง 50% แมร์โลต์ 35% และพันธุ์คาแบร์เน่ต์ ฟรอง 15%
- อรหันต์ห้า ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์ (Château Mouton-Rothschild)
คำว่า "Rothschild" ถ้าเป็นไวน์ ให้อ่านว่า "รอธส์ชิลด์" แต่ถ้าเป็นตระกูลให้อ่านว่า "รอธส์ไชลด์" ในปี ค.ศ.1855 ที่กรุงปารีสมีการประกาศบัญชี 1855 Classification on Médoc เพื่อแบ่งชั้นไวน์ระดับกรองด์ ครูส์ของเมดอกออกเป็น 5 ชั้นนั้น ไวน์ที่อยู่ในชั้นหนึ่งแท้จริงแล้วมีเพียง 4 ตัว ได้แก่ 4 อรหันต์แรก ตามลำดับ ส่วน ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์ อยู่ในชั้นที่สอง เพิ่งจะได้รับการเลื่อนชั้นให้เข้ามาอยู่ในชั้นที่หนึ่งเมื่อปี ค.ศ.1973 หมาดๆ นี่เอง ไวน์ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์ จึงจัดเป็นห้าอรหันต์ไวน์ สุดท้าย
ไวน์ตัวนี้กำเนิดในศตวรรษที่ 14 ชื่อในยุคแรกค่อนข้างเชย จะเรียกกันว่า ชาโต้ พูยัล มีไร่อยู่ในหุบเขาที่อุดมไปด้วยฝูงแกะของตำบลโบอีแญ็ก ซึ่งคำว่า “แกะ” ในภาษาฝรั่งเศสก็คือ “Mouton” แต่ชาโต้ พูยัลในยุคนั้นยังไม่มีคำว่า “มูตอง” มาเกี่ยวข้องกับชื่อไวน์ ซึ่งเจ้าของชาโต้ พูยัล คนแรกๆ นั้นจะใครนั้นไม่มีใครทราบประวัติที่แน่นอน รู้แต่ว่าในปี ค.ศ.1430 ดลุคแห่งกลูเซตอ เป็นผู้ซื้อ แล้วตระกูลของเขาดูแลไวน์ตัวนี้อยู่นานถึง 423 ปี จากนั้นก็เบื่อหน่าย จึงขายกิจการให้แก่บารอนนาธาเนียล เดอ รอธส์ไชลด์ ในปี ค.ศ.1853 มหาเศรษฐีหนึ่งในสิบของฝรั่งเศส เจ้าของธนาคารรอธส์ไชลด์ผู้มั่งคั่ง พอซื้อกิจการมาก็เปลี่ยนชื่อไวน์ตัวนี้เป็น ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์ และในปี ค.ศ.1855 ได้รับการประกาศให้เป็นกรองด์ ครูส์ ชั้นสอง ตระกูลรอธส์ไชลด์ไม่แฮปปี้กับตำแหน่งนี้ เพราะเขาเชื่อว่าไวน์ของเขาเลิศล้ำพอสมควรอยู่ชั้นหนึ่ง เพื่อลบล้างความอาย พวกเขาจึงเร่งระดับฝีมือเซียนมาผลิตไวน์ตัวนี้อย่างอดทน จนได้รับการเลื่อนขึ้นอันดับหนึ่งในปี ค.ศ.1973 รอคอยยาวนานถึง 118 ปี พวกเขาจึงประสบความสำเร็จ เป็นหนึ่งในห้าอรหันต์ไวน์ แห่งดินแดนฝรั่งเศส ปัจจุบันเจ้าของ คือ บารอนเนส ฟิลิปปินส์ เดอ รอธส์ไชลด์
ไวน์ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์ มีไร่องุ่นกว้างขวางถึง 470 ไร่ ผลิตไวน์แดงปีละ 25,000 หีบ ใช้องุ่นพันธุ์คาแบร์เน่ต์ โซวินยอง 80% คาแบร์เน่ต์ ฟรอง 10% แมร์โลต์ 8 เปอร์เซ็นต์ และเปอตี แวร์โดต์ 2%
ขวดไวน์ปีทอง (Vintage Year) ได้แก่ ปี ค.ศ.1939, 1945, 1961, 1970, 1973, 1982, 1986, 1989, 1990 และ 1995