เหล้าหวาน เป็นเหล้าที่ใช้ผสมในค็อกเทล เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันให้กับค็อกเทล เนื่องจากเหล้าหวานมีมากมายหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะใช้ผลไม้ สมุนไพร หรือพืชอื่นใดมาเป็นส่วนผสมที่ใช้ทำเหล้า รสชาติออกรสหวาน มีกลิ่น และรสตามวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำเหล้าหวานนั้นๆ มีดีกรีตั้งแต่ 15-60%
คำว่า Liqueur และ Cordial มีความหมายคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่คำว่า Liqueur มักจะหมายถึงเหล้าหวานของประเทศแถบยุโรป มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "Liquefacere" อ่านว่า ลิคิวเฟคซิรี่ หมายถึง to dissolve หรือ to melt (การหลอมละลายรวมตัวกัน) หมายถึงการนำเอาเหล้าสปิริตมาผสมรวมกับผลไม้ และน้ำเชื่อมทำให้ได้เหล้าที่มีรสหวานนุ่มเข้ากับความแรงของเหล้าสปิริตได้เป็นอย่างดี ส่วนคำว่า "Cordial" หมายถึงเหล้าหวานของอเมริกา ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษละตินว่า "Cor" หรือ "Cordis" หมายถึง Heart เพราะ Cordial เป็นเหล้ายาที่ผลิตขึ้น ดื่มเพื่อกระตุ้นหัวใจ
ตามความเข้าใจ เหล้าหวานได้ถือกำเนิดขึ้นในฝรั่งเศสเป็นที่แรก แต่จริงๆ แล้วเหล้าหวาน นั้นเกิดขึ้นมาก่อนที่ฝรั่งเศส จะพัฒนาการผลิตมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดย หลวงพ่ออาร์นอนโต้ เดอ วิลลาโนวา (Arnaldus de Vila Nova) ชาวสเปน เกิดในปี ค.ศ. 1240 เป็นผู้ที่คิดค้นการทำเหล้ายาดองเพื่อรักษาโรค และเขาได้จดบันทึกไว้ มีชื่อว่า The Boke of Wine อธิบายไว้เกี่ยวกับวิธีการต้มกลั่นไวน์ให้เป็นไวน์บรั่นดี เรียกว่า Aqua Vitae ที่มีรสแรงนุ่มกลมกล่อม กลิ่นหอมหวล รวมถึงขั้นตอนกรรมวิธีการทำเหล้าหวานไว้ด้วย โดยที่นำเอาเหล้าไวน์บรั่นดีมาหมักแล้วต้มกลั่นไปพร้อมกับสมุนไพร และเครื่องเทศต่างๆ กว่า 123 ชนิด เพื่อปรุงแต่งกลิ่น และรสชาติของเหล้าหวานให้น่าดื่มมากยิ่งขึ้น และพัฒนาต่อมาจนกลายมาเป็น ‘ลิเคียวร์’ หรือเหล้าหวานนั่นเอง ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 15 ชาวอิตาเลี่ยนได้รับยกย่องให้เป็นชนชาติที่ผลิตเหล้าหวานได้ดี และผลิตได้มากที่สุดในยุโรป
จนกระทั่ง ปี ค.ศ.1532 มิส แคเธอรีน เดอ เมดิซี (Catherine de Medici) ได้แต่งงานกับกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ของฝรั่งเศส ได้แอบขโมย นำเอากรรมวิธีการผลิตเหล้าหวาน ไปผลิตที่เมืองมองเพนเลีย ในฝรั่งเศสดูบ้าง และผลิตออกมาได้ดีมาก จนกลายเป็นว่า ฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแรกที่ผลิตเหล้าหวาน ที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของโลก (ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ชาวอิตาเลี่ยน ยังคงเจ็บใจกันมาจนถึงทุกวันนี้เลย) และในประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกเรื่องราวของเหล้าหวาน (ลิเคียวร์) ไว้อีกว่า ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ช่วงปี ค.ศ.1638-1715) ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ที่หลงใหลในรสของเหล้าหวานเป็นอย่างมาก ถึงขนาดในห้องบรรทมจะต้องมีเหล้าหวานติดห้องไว้ไม่ขาดสาย ในปี ค.ศ.1920 ในยุโรปนิยมดื่มเหล้าหวานกันมากหลังทานอาหารมื้อค่ำ เพราะช่วยย่อยอาหารได้ดี และช่วยบำรุงร่างกายด้วย ทำให้คุณผู้หญิงในยุคนั้น นิยมดื่มเหล้าหวานกันมาก หลังจากนั้นเหล้าหวานก็เข้าไปเผยแพร่ และนิยมดื่มแบบผสมเป็นค็อกเทลกันมากในอเมริกา
***ข้อแตกต่างระหว่างเหล้าหวานกับเหล้าสปิริต โดยส่วนใหญ่เหล้าหวานจะมีรสค่อนข้างหวาน มีกลิ่นและรสชาดตามผลไม้ หรือสมุนไพร เครื่องเทศที่นำมากลั่นหรือหมักทำเหล้าหวานชนิดนั้นๆ ซึ่งเหล้าสปิริตจะไม่มีกลิ่นและรสชาดที่โดดเด่นของผลไม้ สมุนไพร เครื่องเทศ และที่สำคัญเหล้าสปิริตจะไม่มีรสหวาน มีแต่กลิ่นหอมนุ่มของตัวเหล้าเอง*** การผลิตเหล้าหวาน (ลิเคียวร์ : Liqueur) ส่วนใหญ่นิยมนำเอาแอลกอฮอล์ที่ต้มกลั่นสำเร็จแล้วมาปรุงแต่งรสเพิ่มเติมอีกที โดยเติมความหวานเข้าไป ผสมกับสมุนไพร เครื่องเทศต่างๆ, ผลไม้, เมล็ดผลไม้, ดอกไม้, รากไม้รากยา พืชพันธุ์ต่างๆ เช่น เมล็ดดอกคาราเวย์ (Caraway Seed), น้ำมันจากผิวส้ม (Oil of Orange), น้ำมันจากผิวมะนาว (Oil of Lemon), เมล็ดผักชีที่มีกลิ่นหอม (Coriander) เพื่อแต่งเติมรสชาติ กลิ่น และสี ให้ได้เหล้าหวานที่แตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่นิยมเสิร์ฟหลังอาหาร ดื่มกินเพื่อช่วยย่อยอาหาร หรือใช้เป็นส่วนผสมที่สำคัญในการผสมค็อกเทล ขั้นตอนการผลิตเหล้าหวาน มีดังนี้
1. ขั้นตอนของการสกัดสารให้กลิ่นและรส การปรุงแต่งรสชาติเหล้าหวาน มักเติมน้ำเชื่อม (Sugar Syrup) ประมาณ 2.5% vol. (โดยปริมาตร) และยังแต่งกลิ่น สี ด้วยกรรมวิธีที่แบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ โดยการแช่ (Infusion) มักใช้บรั่นดี ที่เรียกว่า Neutral Spirit เป็นเหล้ากลั่นบริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็นกลาง เทใส่ลงในถัง แล้วใส่ พืชผลไม้สด หรือแห้งลงไปแช่นานอย่างน้อยประมาณ 1 ปี จากนั้นจึงกรองเอาน้ำออก แล้วนำพืชผลไม้ดังกล่าวนั้นไปกลั่นต่อ ซึ่งน้ำที่ได้จากการกลั่นพืชผลไม้จะนำกลับมาผสมกับน้ำที่แยกเก็บไว้ เพื่อปรุงแต่งรสด้วยน้ำเชื่อมอีกครั้งหนึ่ง แล้วเก็บหมักบ่มต่ออย่างน้อยอีก 6 เดือน จนถึง 1 ปี และพืชผลไม้ ที่นิยมกันนำมาแช่ เช่น แอปริคอท เชอรี่ พีช แอปเปิ้ล แครนเบอรี่ เป็นต้น โดยการต้ม (Percolation) คล้ายกับวิธีการชงกาแฟ โดยการต้ม คือ นำเอาพืชผลไม้หอมที่ต้องการ ผสมกับบรั่นดี หรือ Neutral Spirit แล้วต้มกลั่นเหล้าออกมาตามต้องการ จากนั้นเติมความหวาน แล้วแต่งสีเพิ่มตามสีธรรมชาติของพืชผลไม้ที่ใช้ทำ แล้วบรรจุขวดเลยก็ได้ หรือเก็บเก็บหมักบ่มในถังไม้โอ๊คต่อก็ได้ โดยการกลั่น (Distillation) เหมือนกับวิธีการทำเหล้ายิน (Gin) คือ นำเอาพืชผลไม้หอมที่ต้องการ แช่ในเหล้าบรั่นดีทิ้งค้างคืนไว้ แล้วจึงนำไปกลั่นต่อ จนได้เหล้าที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นหอมของพืชผลไม้ตามที่ต้องการ จากนั้นค่อยนำไปเติมความหวานเพิ่ม ไม่น้อยกว่า 2.5% ตามปริมาตร เพื่อให้ได้ความหวานตามต้องการ แล้วแต่งสีเพิ่มตามสีธรรมชาติของพืชผลไม้ที่ใช้ อาจจะเก็บหมักบ่มต่อในถังไม้โอ๊ค จนได้รสหวานกลมกล่อม นุ่มนวลขึ้น
2. ขั้นตอนของการกลั่น หลังจากที่สกัดได้สารให้กลิ่นและรสในเหล้าแล้วหลายวัน จะนำไปกลั่นในระบบสูญญากาศ เพื่อเก็บกลิ่น จะได้เหล้ากลั่นที่ไม่มีสี และมีดีกรีที่ค่อนข้างสูง แล้วนำไปกลั่นซ้ำ เพื่อขจัดสิ่งเจือปนที่จะทำให้กลิ่นและรสเหล้าเปลี่ยนแปลง
3. ขั้นตอนของการผสม เป็นการผสมผสานเพื่อให้ได้รสและกลิ่นตามที่ต้องการ
4. ขั้นตอนของการหมักบ่ม จะนำไปหมักบ่มในถังไม้โอ๊ก เพื่อให้ได้เหล้าหวานที่มีคุณภาพที่ดีเยี่ยม
5. ขั้นตอนของการกรอง นำไปกรองสิ่งตกค้างออกไป เช่น เปลือก หรือเศษของสมุนไพรต่างๆ
6. ขั้นตอนของการบรรจุขวด อาจจะมีการเติมเหล้าเพิ่มลงไป เพื่อเพิ่มดีกรีตามที่ต้องการ และเพิ่มความหวาน แต่สี แล้วนำไปกรองอีกครั้ง เพื่อให้ได้เหล้าหวานที่มีสีสดใสสวยงาม ก่อนบรรจุลงขวด การแบ่งประเภทเหล้าหวานตามดีกรีแอลกอฮอล์ แบ่งได้ 3 ประเภท คือ Liqueur Extra-Fine มีดีกรี 35-45% Liqueur Fine มีดีกรี 25-35% Liqueur Courantre มีดีกรีน้อยกว่า 25% มักเป็นเหล้า Creme de ....
ประเภทของเหล้าหวาน ใช้เหล้าสปิริตที่ผสมผลไม้ รากไม้รากยา เครื่องเทศ และสมุนไพรต่างๆ โดยการแต่งเติมสีสัน และกลิ่นเพิ่มลงไป ทำให้เหล้ากลุ่มนี้ มีความหลากหลายมากมาย หลายรส หลายสี หลายกลิ่น มีมากกว่า 1,000 ชนิดทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้วัตถุดิบที่นำมาผลิต แต่งเติมแอลกอฮอล์ (Alcohol), ความหวาน (Sweetening), สีสัน (Coloring) และกลิ่น (Aromatic) แตกต่างกันไป เหล้าหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 กลุ่ม คือ
1. Herbal and Spice or Bitter Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากบรั่นดี หรือคอนยัค หรือวิสกี้ผสมกับสมุนไพรเครื่องเทศ รากไม้รากยา ทำให้มีรสออกหวานปนขมนิดๆ รสเข้มข้นกลิ่นหอมฉุน เช่น Benedictine D.O.M., Chartreuse, Kummel, Jagermeister, Suze เป็นต้น
2. Fruit & Plant Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากเหล้าสปิริตผสมกับพืช และผลไม้ต่างๆ แต่งเติมเพิ่มรสเข้าไป เช่น Cointreau, Mandarine Napoleon, Grand Marnier, Midori, Malibu เป็นต้น
3. Seed & Nut Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากเหล้าสปิริตผสมกับถั่วพันธุ์ต่างๆ เมล็ดเครื่องเทศที่คล้ายยี่หร่า (Caraway Seed) รสออกหวาน หอมกลิ่นเครื่องเทศ กลิ่นถั่ว กลิ่นโกโก้ เช่น Sambuca, Amaretto, Frangelico เป็นต้น
4. Whisky (Whiskey) Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากวิสกี้ผสมกับน้ำผึ้ง พืชผักผลไม้ สมุนไพรต่างๆ กลิ่นหอมหวาน รสนุ่มแรง เช่น Drambuie, Glayva, Southern Comfort, Wild Turkey, Irish Mist เป็นต้น
5. Brandy Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากบรั่นดีผสมกับผลไม้ต่างๆ กลิ่นหอม รสหวาน เช่น Apricot Brandy, Cherry Brandy, Peach Brandy, Apple Brandy, Egg Brandy เป็นต้น
6. Emulsion Liqueurs หรือ Cream Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากวิสกี้ผสมกับครีมนม โกโก้ ช็อกโกแลต วานิลลา กลิ่นหอม รสนุ่ม จะมีรสชาดที่โดดเด่นเฉพาะ เข้มข้น มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ เช่น Bailey’s, Amarula, Advocat เป็นต้น
7. Crème Liqueurs เป็นเหล้าหวานที่กลั่นมาจากเหล้าสปิริต โดยเฉพาะเหล้ารัมผสมกับพืช สมุนไพร ผลไม้ต่างๆ มีการแต่งเติมเพิ่มรส สี กลิ่นเข้าไป แยกเป็น Crème Liqueurs รสชาดค่อนข้างหวานกว่าเหล้าพวก Schnapps และเหล้าหวานตัวอื่น ส่วนรสและกลิ่นจะเป็นไปตามผลไม้ หรือพืชที่ใช้ผลิต สีของเหล้าจะมีสีสันสวยงาม หลากสี เช่น Crème de Cacao, Crème de Banane, Crème de Café เป็นต้น
จำแนกเหล้าหวานตามองค์ประกอบ (Liqueurs Analysis) เหล้าหวานมีความหลากหลายมาก ด้วยรสชาติ สีสัน กลิ่นของเหล้าหวานเอง ที่มีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละชนิด ทำให้เป็นเหล้าที่ดูมีเสน่ห์น่าหลงไหล สีสันที่ดูดึงดูด กลิ่นที่หอมเย้ายวน รสหวานที่นุ่มละมุนชวนดื่มง่าย และรสของผลไม้ พืชสมุนไพร เครื่องเทศต่างๆ ที่นำมาผลิตเป็นเหล้าหวาน มีหลากหลาย ทำให้สามารถแยกเหล้าหวานตามองค์ประกอบได้ดังนี้ Color (สีสันของเหล้า) แบ่งแยกเหล้าหวานตามสี ได้แก่
• Clear Color สีใส เช่น White Crème de Cacao, White Crème de Menthe, Triple Sec, Malibu, White Sambuca, Cointreau, Kirschwasser, Goldwasser, Kummel, Maraschino, Lychee
• Black or Dark Color สีดำ เช่น Kahlua, Black Sambuca, Tia Maria, Jagermeister, Unicum
• Brown or Dark Color สีน้ำตาลโกโก้ เช่น Brown Crème de Cacao
• Blue Color สีฟ้า เช่น Blue Curacao, Hpnotiq
• Violet Color สีม่วง เช่น Crème de Cassis, Parfait Amour, Creme de Mure
• Yellow Color สีเหลือง เช่น Galliano, Crème de Banane, Yellow Chartreuse, Vanilla Liqueur
• Green Color สีเขียว เช่น Green Chartreuse, Green Crème de Menthe, Pisang Ambon, Midori, Melon, Kiwi
• Amber Color สีทองอำพัน เช่น Drambuie, Grand Marnier, Benedictine D.O.M., Irish Mint, Glayva, Frangelico, Van Der Hum, Amaretto
• Orange Color สีส้ม เช่น Licor 43, Orange Curacao, Mandarine Napoleon
• Red Color สีแดง เช่น Cherry Heering, Cherry Brandy, Crème de Fraises, Crème de Framboise, Strawberry
• Cream & Milk Color สีครีมนม เช่น Bailey’s, Amarula, Mozart, Advocat Aroma (กลิ่นของเหล้า)
แบ่งแยกเหล้าหวานตามกลิ่น ได้แก่
• Fruit Aroma กลิ่นผลไม้ เช่น Cherry Brandy, Kiwi, Crème de Banane, Malibu, Lychee, Chambord, Apple Sour, Strawberry, Mango, Blueberry, Water Melon, Midori
• Zest or Peel Aroma กลิ่นผิว เช่น ส้ม มะนาว มะกรูด เช่น Triple Sec, Parfait Amour, Curacao, Cointreau
• Nut Aroma กลิ่นเมล็ดถั่วต่างๆ เช่น Crème de Cacao, Amaretto, Frangelico, Apricot Brandy
• Spice Aroma กลิ่นเครื่องเทศ เช่น Kummel, Jagermeister, Anisette
• Sweet Aroma กลิ่นหวานหอม เช่น Bailey’s, Toffee, Amarula
• Spirit Aroma กลิ่นเหล้าสปิริต แบ่งเป็น กลุ่มเหล้าบรั่นดี Brandy Aromaเช่น Grand Marnier, Benedictine D.O.M. และกลุ่มเหล้าวิสกี้ Whisky Aroma เช่น Drambuie, Southern Comfort
• Flowers Aroma กลิ่นดอกไม้ เช่น Crème de Violette, Galliano
• Coffee Aroma กลิ่นกาแฟ เช่น Tia Maria, Kahlua, Copa de Oro เหล้าหวาน มีหลากหลายชนิด ได้แก่